อินเดียชี้เชื้อโควิด สายพันธุ์เดลตา เกิดการกลายพันธุ์ที่โปรตีนหนาม ทำให้สามารถจับกับตัวรับในเซลล์ร่างกายมนุษย์ได้แน่นมากขึ้น แพร่กระจายติดเชื้อง่ายขึ้น
ดร.เอ็น เค อโรรา ประธานคณะที่ปรึกษาทางเทคนิคแห่งชาติว่าด้วยการสร้างภูมิคุ้มกันโรค (NTAGI) ด้านโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ในประเทศอินเดีย และประธานร่วมของกลุ่มศึกษาจีโนมเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่แห่งอินเดีย (INSACOG) กล่าวเมื่อ 19 ก.ค. 64 ถึงความสามารถของเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์ สายพันธุ์เดลตา (อินเดีย)ที่กำลังระบาดไปทั่วโลก รวมทั้ง ไทย ในการแพร่กระจายติดเชื้อ จะมากกว่าเชื้อไวรัสฯ สายพันธุ์อัลฟา (Alpha) ราวร้อยละ 40-60
กระทรวงสาธารณสุขของอินเดีย อ้างการศึกษาของ ดร.อโรรา พบว่าโควิดสายพันธุ์เดลตา ได้เกิดการกลายพันธุ์ที่โปรตีนหนาม (สไปก์โปรตีน) ซึ่งช่วยให้มันสามารถจับกับพื้นผิวของตัวรับ เอซีอี2 (ACE2) ของเซลล์ในร่างกายมนุษย์ได้อย่างแน่นหนา ทำให้มันสามารถแพร่เชื้อได้มากขึ้น และหลบเลี่ยงระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายได้ โดยเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตา มีอัตราความสามารถแพร่เชื้อสูงกว่าเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์ รุ่นก่อน (อัลฟา) ราวร้อยละ 40-60 ทั้งยังแพร่ระบาดไปแล้วในกว่า 80 ประเทศ รวมถึงสหราชอาณาจักร สหรัฐฯ สิงคโปร์ และอื่นๆ
ทั้งนี้ กลุ่มศึกษาจีโนมเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่แห่งอินเดียเป็นกลุ่มการทำงานร่วมกันของห้องปฏิบัติการ 28 แห่ง ที่จัดตั้งโดยกระทรวงสาธารณสุขของรัฐบาลกลางอินเดียเมื่อเดือนธันวาคม ปีก่อน โดยนับตั้งแต่นั้นมา กลุ่มดังกล่าวดำเนินการจัดลำดับพันธุกรรมและวิเคราะห์เชื้อโควิด-19 ที่พบในอินเดีย รวมถึงแนวโน้มทางระบาดวิทยาที่เกี่ยวข้องกับเชื้อโควิด-19 ชนิดกลายพันธุ์
ขอบคุณแหล่งที่มา : https://www.thairath.co.th/news/